วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ลูกไม่ยอมกินข้าว ลูกกินข้าวยาก คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกยังไงดี ?



          ลูกไม่ยอมกินข้าว ทำไงดี ? ปัญหายอดฮิตขณะคุณพ่อคุณแม่ขณะเลี้ยงลูก วันนี้มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีแก้อย่างตรงจุดกันเถอะ


ไม่ว่าใครก็อยากให้ลูกน้อยเติบโตมามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกันทั้งนั้น แต่ความจริงกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะอุปสรรคที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักเจอก็คือ "ลูกกินข้าวยาก" ทำเอากลุ้มใจกันไปว่า เจ้าตัวเล็กจะไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ แล้วกลายเป็นคนร่างกายอ่อนแอในตอนโต วันนี้เลยจะพาไปทำความเข้าใจถึง 7 สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมกินข้าว  แถมด้วยวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมาฝากกันค่ะ ถ้าอยากรู้แล้วว่าเคล็ดลับดี ๆ นั้นมีอะไรบ้าง ตามเราไปดูคำแนะนำในแต่ละข้อกันเลย 

1. รู้สึกเหมือนโดนบังคับ
ปกติแล้วอารมณ์ของเด็กเล็กจะค่อนข้างอ่อนไหวและไวต่อความรู้สึก เวลาถึงเวลาอาหาร หากคุณพ่อคุณแม่คอยนั่งคุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เด็กจะรับรู้ถึงความกดดันแล้วมีปฏิกิริยาต่อต้านอัตโนมัติ โดยการไม่กินอาหารที่อยู่ตรงหน้า และจะยิ่งงอแงเข้าไปอีก ถ้าโดนป้อนข้าวตอนที่รู้สึกไม่อยากอาหาร หรือได้ยินคำสั่งหรือคำบ่นจากคุณพ่อคุณแม่ ยกตัวอย่างเช่น "กินเข้าไปเดี๋ยวนี้ !" และ "ทำไมถึงกินข้าวยากเย็นขนาดนี้นะ" แม้บางคนอาจจะยังฟังภาษาไม่รู้เรื่อง แต่อย่าลืมนะคะว่าเด็กนั้นรับรู้ถึงอารมณ์ของคนรอบข้างเสมอค่ะ

วิธีแก้  
คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าการทานอาหารเป็นเรื่องสนุก โดยการร่วมกินอาหารกับลูกเพื่อสร้างบรรยากาศสบาย ๆ อบอุ่นเหมือนเป็นมื้ออาหารของครอบครัว สำหรับเด็กโตควรปล่อยให้เด็กนั่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเริ่มกินเอง ในขณะคุณพ่อคุณแม่ก็กินอาหารของตัวเองไป เหมือนเป็นตัวอย่างและเป็นการบอกลูกอ้อม ๆ ว่าเวลานี้ควรกินอาหารเท่านั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น สำหรับเด็กเล็กที่ยังทานอาหารเองไม่ได้ เชื่อเถอะค่ะว่าการป้อนอาหารแบบเพิ่มลูกเล่นสนุก ๆ สมมติว่าช้อนป้อนเป็นเครื่องบิน รถไฟ หรือเรือ เดินทางเข้าปากลูกพร้อมทำเสียงประกอบปู๊น ๆ บรื้น ๆ ยังได้ผลเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ลองแกล้งทำเป็นกินอาหารของลูกแล้วแสดงออกว่าอาหารอร่อย จะทำตาโต จะร้องโอ้โหอะไรก็ว่ากันไป แต่ขอให้แอ็กติ้งเว่อร์เข้าไว้ เด็กจะได้รู้สึกสนุกแล้วอยากกินอาหารตามด้วยเช่นกัน


2. ไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการกินอาหาร
เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอกค่ะว่าการกินอาหารคือการเสริมสร้างและซ่อมแซมให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง รู้แค่ว่าหิวก็กิน อยากกินก็กิน อาหารอร่อยก็กินเพียงเท่านั้น หรือบางคนก็คุ้นเคยแต่อาหารที่มีรสชาติและหน้าตาแบบเดิม พอเจออาหารแปลกใหม่ก็รู้สึกงง ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร ไม่รู้ว่าเป็นของกินหรือของเล่นกันแน่ ด้วยเหตุนี้เด็กบางคนก็เลยไม่รู้สึกสนใจอาหารที่อยู่ตรงหน้านั่นเองค่ะ

วิธีแก้ 
อาจใช้วิธีเสิร์ฟอาหารใหม่ในภาชนะเดิมที่เด็กใช้ประจำ หรือผสมผสานระหว่างอาหารแบบเก่าและแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่นหากลูกเคยกินแต่อาหารเด็กแบบเหลวมาก่อน แล้วไม่ยอมกินเนื้อสัตว์หรือผัก ถึงแม้จะหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็ตาม ให้คุณแม่ลองบดวัตถุดิบทุกอย่างให้มีหน้าตาและลักษณะเหลวเหมือนอาหารเด็กแบบเก่า พร้อมใส่ถ้วยชามเดิมที่ลูกน้อยคุ้นเคย ในส่วนตัวของเด็กโตที่เริ่มเข้าใจภาษา ให้ใช้วิธีพาลูกไปจ่ายตลาดด้วยกัน พร้อมอธิบายถึงประโยชน์ของวัตถุดิบต่าง ๆ 



3. ถูกดึงความสนใจไปจากมื้ออาหาร
การวางของเล่นไว้ใกล้ ๆ โต๊ะกินข้าว การเปิดโทรทัศน์ และการปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์ระหว่างมื้ออาหาร แม้จะมีข้อดีคือสามารถทำให้ลูกผ่อนคลาย ไม่ร้องไห้งอแง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีข้อเสียซะมากกว่า เพราะเด็กจะถูกดึงความสนใจไปจดจ่ออยู่กับการ์ตูนหรือเกมในจอ จนลืมไปว่าถึงเวลากินอาหารที่อยู่ตรงหน้า ซ้ำยังไม่สนใจคุณพ่อคุณแม่ที่คอยป้อนข้าวให้อีกด้วย 

วิธีแก้ 
เมื่อถึงเวลากินข้าว หากอยากสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย ไม่เงียบเชียบหรือตึงเครียดเกินไป ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีเปิดเพลงคลอเบา ๆ แทนการเปิดการ์ตูนให้ลูกดู เพราะภาพในจอจะดึงความสนใจได้มากกว่าเสียงที่มองไม่เห็น หรือคุณพ่อคุณแม่จะทุ่มเทร้องเพลงเด็กด้วยตัวเอง พร้อมกับทำท่าทางกินอาหาร โบกชามข้าวไปมาให้ลูกสนใจ ก่อนป้อนข้าวและปล่อยให้ลูกเริ่มมื้ออาหารของตัวเองได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นไป ควรให้ลูกนั่งแยกห่างกัน หรือคุณพ่อคุณแม่จะนั่งขั้นกลางระหว่างเด็ก ๆ จะได้ไม่ชวนกันเล่นเจ๊าะแจ๊ะจนลืมกินอาหารค่ะ


4. ปริมาณอาหารเยอะเกินไป
บางทีการหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากให้ลูกกินข้าวเยอะ ๆ จะได้โตไว ๆ ก็เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเท่าไรนัก ด้วยความที่กระเพาะอาหารของเด็กเล็กยังไม่ขยายพอ สำหรับรองรับปริมาณอาหารได้มากเท่าผู้ใหญ่ การเสิร์ฟอาหารให้ลูกน้อยแบบจัดหนักจัดเต็ม หรือล้นเกินชามจึงทำให้เด็กบางคนรู้สึกไม่ค่อยอยากอาหาร หรือรู้สึกกดดันเพราะคิดว่าต้องทานอาหารให้หมดเกลี้ยง สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะรู้สึกสับสนจนไม่แตะต้องอาหาร หรือทานอาหารไม่หมด ทำเอาเสียของไปเปล่า ๆ อีกต่างหาก

วิธีแก้ 
กะปริมาณนมและอาหารของลูกให้พอเหมาะพอควรก่อนเสิร์ฟ อาจใช้วิธีเสิร์ฟแต่น้อยก็ได้นะคะ เพราะถ้าเด็กกินแล้วไม่รู้สึกอิ่ม จะร้องขออาหารเพิ่มเองอัตโนมัติ ถึงตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยเติมอาหารให้อีกครั้ง แต่อาจลดปริมาณลงจากครั้งแรกสักหน่อย เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด หรือท้องอืดจากการกินมากเกินความจำเป็น สำหรับวิธีนี้นอกจากทำให้ลูกได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าอาหาร ไม่ต้องทิ้งของเหลือให้สิ้นเปลืองอีกด้วยค่ะ



5. รู้สึกไม่สบาย-เหนื่อยล้าจากกิจกรรมทั้งวัน
การที่ลูกไม่ยอมกินอาหาร หากไม่ใช่เพราะอารมณ์ที่ไม่คงที่ ก็อาจเป็นเพราะร่างกายที่อ่อนแอลงได้เช่นกัน ว่าง่าย ๆ ก็เหมือนเป็นสัญญานแรกเริ่มที่บ่งบอกว่าลูกของเราอาจรู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายท้อง อาจจะคลื่นไส้ หรือทำกิจกรรมจากที่โรงเรียนมาจนร่างกายอ่อนล้า อยากพักผ่อนมากกว่ามานั่งกินอาการให้หมดชาม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกไม่สบายหรือไม่ได้จาก พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ไม่ยอมกินอาหารที่เคยชอบ กินแล้วบ้วนทิ้ง ไม่ยอมกลืน หน้าซีด ตัวร้อน หรือดูพะอืดพะอม หากมีอาการเช่นนี้ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกกินข้าว แล้วจะพาไปพบแพทย์หรือให้ลูกพักผ่อนก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนว่าหนัก-เบาแค่ไหนนะคะ

วิธีแก้  
ถ้ามั่นใจแล้วว่าลูกไม่ยอมทานอาหารเพราะป่วยจริง ๆ ก็อย่ายัดเยียดให้ของกินที่เคี้ยวยากหรือย่อยยากเด็ดขาด แนะนำให้ป้อนเป็นของเหลวอย่าง น้ำเปล่า วิตามินซี หรือบดอาหารที่มีไฟเบอร์สูง จำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืช อย่างเช่น ข้าวโอ้ต มะเขือเทศ บร็อกโคลี รวมถึงผลไม้รสเปรี้ยวต่าง ๆ เพื่อลดอาการคลื่นไส้ และช่วยดึงให้ความอยากอาหารของลูกกลับมาได้ค่ะ



6. ลูกไม่รู้สึกหิวจริง ๆ
 สาเหตุง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มักมองข้ามและไม่เข้าใจก็คือ ลูกไม่ยอมกินอาหารก็เพราะไม่รู้สึกหิวเลยจริง ๆ ซึ่งอาจเกิดมาจากการกินของว่างระหว่างมื้ออาหารเยอะเกินไป กินอาการมื้อก่อนหน้าเยอะเกินไปแล้วยังย่อยไม่หมด สำหรับเด็กเล็กก็อาจเพราะปริมาณน้ำนมที่ดื่มนั้นเยอะเกินพอดี ทำให้ไม่รู้สึกหิวเท่าไรนัก เพราะน้ำนมแม่รวมถึงนมวัวทั้งหลายนั้น อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันจำเป็นที่ทำให้อิ่มท้องได้นานกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ การให้ขนมลูกกินเป็นประจำก็มีส่วนทำให้เด็กไม่สนใจมื้ออาหารหลักด้วยเช่นกัน เพราะขนมส่วนใหญ่นั้นมีรสชาติหวานอร่อยถูกใจ เด็กกินได้ไม่หยุดไม่หย่อน ทำให้ไม่อยากกินอาหารคาว ๆ ทานยากนั่นเอง

วิธีแก้   
 ควรกะปริมาณอาหารของลูกให้เหมาะสมในทุกมื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหลักหรืออาหารว่าง สำหรับเด็กเล็กก็ต้องศึกษาให้ดีว่าอายุเท่านี้ น้ำหนักเท่านี้ ควรได้รับน้ำนมแม่เท่าไหร่ถึงจะพอดี โดยปริมาณที่แนะนำก็คือ เด็กไม่ควรดื่มนมเกิน 500 มิลลิลิตร/ 1 วัน หากเป็นน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงไม่ควรให้ดื่มเกิน 125 มิลลิลิตร / 1 วัน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมปริมาณอาหารในละมื้อให้มีขนาดเท่ากัน ๆ รวมถึงแบ่งเวลามื้ออาหารให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกหิวหรืออิ่มเกินไปค่ะ



7. ลูกยังเคี้ยวอาหารไม่เป็น
โดยปกติแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกเคี้ยวและกลืนอาหารได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แต่ก็มีหลายคนที่ยังเริ่มต้นด้วยวิธีที่ผิด ไม่ว่าจะบดอาหารให้ลูกไม่ละเอียดพอ หรือป้อนอาหารที่มีลักษณะต่างกันในช้อนเดียว เช่นหมูก้อนแข็ง ๆ กับเต้าหู้นิ่ม ๆ ทำให้ลูกเผลอกลืนโดยไม่เคี้ยว เพราะคิดว่าเป็นอาหารเหลวที่สามารถกลืนลงคอได้เลย ทำให้เกิดการสำลัก อาหารติดคอ หรือกลืนอาหารไม่ลง จนกลายเป็นเรื่องฝังใจ ทำให้ลูกปฏิเสธการกินอาหารจากช้อนได้เช่นกัน

วิธีแก้
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหารอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป โดยเริ่มจากอาหารที่ไม่ละเอียดมาก เช่น ข้าวต้มที่บดข้าวเกือบละเอียด หรือโจ๊ก หากอยากเพิ่มสารอาหารอื่น ๆ ควรเป็นอาหารเคี้ยวง่าย ไม่มีเส้นใย มีสัมผัสเรียบ ๆ ไม่ให้บาดคอ เช่น เนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ แครอทต้ม ฟักทองต้ม หรือบร็อกโคลี่ต้ม ในกรณีที่ไม่ได้ปั่นอาหารทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ควรแบ่งป้อนตามชนิดอาหาร เนื้อสัตว์ก็ป้อนส่วนเนื้อสัตว์ ผักก็สวนผัก ข้าวก็ส่วนข้าว เด็กจะได้แยกแยะออกว่าอาหารในช้อนนั้นแข็งหรือนิ่ม ควรเคี้ยวหรือไม่ควรเคี้ยว เพราะด้วยสัญชาตญานเมื่อเจออาหารนิ่มแล้วเด็กจะกลืนลงคอเองอัตโนมัติ หากเราป้อนทุกอย่างพร้อมกัน อาจทำให้เด็กลืมเคี้ยวแล้วเนื้อสัตว์หรือผักติดคอจนเป็นอันตรายได้ค่ะ



8. เบื่ออาหารหน้าตาเดิม ๆ
ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก การต้องกินอาหารแบบเดิมซ้ำ ๆ ทุกวันยังไงก็ต้องรู้สึกเบื่อเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอาหารเหลวของเด็กวัยหัดกิน ที่มีรสชาติจืด ๆ สัมผัสเละ ๆ เรียบง่าย ยิ่งไม่ทำให้ลูกเจริญอาหาร แล้วปฏิเสธของกินโดยอัตโนมัติ แม้จะรู้สึกหิวแค่ไหนก็ตาม

วิธีแก้ 
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา ลองเปลี่ยนชนิดอาหารเหลวของลูกให้มีรสชาติแตกต่างกันออกไปในแต่ละมื้อ แรก ๆ ควรลงทุนซื้อให้หลากหลายชนิดสักหน่อย จะได้รู้ว่าแบบไหนถูกปากลูกน้อย เมื่อกินจนเบื่อก็ให้นำรสชาติใหม่มาป้อนแทน หากเบื่ออีกก็สามารถนำรสชาติเดิมมาสลับป้อนได้เรื่อย ๆ เหมือนเป็นการหลอกว่าได้กินอาหารรสชาติแต่งต่างกันไป ไม่ทำให้ลูกรู้สึกจำเจ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สละเวลาทุ่มเทสักนิด ลองทำอาหารหน้าตาน่ารัก ๆ อาจเป็นตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ หรือของเล่นอย่าง ตุ๊กตา รถไฟ เครื่องบิน ที่ลูกคุ้นเคย วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นและสนุกในทุก ๆ มื้ออาหาร เพราะนอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว การทำอาหารให้มีหน้าตาน่ารับประทานก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่หากยังนึกไม่ออกว่าควรทำยังไง ก็สามารถดูไอเดียอาหารสำหรับลูกน้อยจากกระปุกดอทคอมได้เลยค่ะ

นอกเหนือจากเคล็ดลับที่เรานำมาฝากแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องใจเย็นอยู่เสมอ แล้วสอนลูกน้อยให้เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปนะคะ เพราะอารมณ์เด็กเล็กนั้นค่อนข้างแปรปรวน ยิ่งบังคับฝืนใจจะยิ่งดื้อและต่อต้าน พอโตไปจะควบคุมยากกว่านี้อีกหลายขุมเลยล่ะค่ะ 




ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : baby.kapook , pobpad , yummymummyclub , familydoctor 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินอุดหนุนบุตรเดือนกรกฎาคม 2565 โอน 600 บาท เข้าบัญชีพ่อแม่วันนี้ เช็กเลย

    เงินอุดหนุนบุตร เดือนกรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เผย เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ออกวันศุกร์ที่ 8 กร...