วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข้ออักเสบเรื้อรังในเด็ก หากรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิต !


           อาการข้ออักเสบเรื้อรังในเด็ก เกิดขึ้นได้อย่างไร ? วันนี้ มีเกร็ดความรู้เรื่องข้ออักเสบ พร้อมวิธีสังเกตอาการและการรักษา เพราะหากรู้เร็วและลูกน้อยเป็นแค่เริ่มต้นอาการยังไม่น่าห่วงค่ะ มาดูแลและป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลข้ออักเสบกับนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ


ข้ออักเสบเรื้อรังในเด็ก มักเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ เกิดได้ตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน และพบบ่อยในช่วงอายุ 5-6 ขวบ โดยมีอาการข้ออักเสบเรื้อรังหลาย ๆ ข้อพร้อมกัน ทั้งมือ เท้า แขน และขา แม้โรคนี้จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยอาการให้รุนแรงมาก รักษาไม่ทันท่วงที เด็กบางรายก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ค่ะ

สาเหตุ
โรคข้ออักเสบเรื้อรังในเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มากกว่า 6 เดือน เด็กผู้หญิงเป็นมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 2 เท่า โดยแบ่งลักษณะอาการได้ 3 อาการหลัก ๆ ดังนี้

1. มีอาการรุนแรงเป็นหลาย ๆ ระบบ
ส่วนมากอาการนี้เป็นในเด็กอายุ 2-3 ขวบ มีไข้สูง 40 องศา โดยมีอุณหภูมิขึ้นลงวันละ 2-3 ครั้ง มักมีผื่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองอาจโต ในบางรายมีปอดอักเสบและมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

2. มีข้ออักเสบไม่เกิน 4 ข้อ
อาการนี้มักเจอในเด็กโต ในระยะเวลา 6 เดือนจะพบข้ออักเสบที่ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า และข้อเข่าได้ มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ มีต่อมน้ำเหลืองโต หากเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยอาจพบความผิดปกติที่เม็ดเลือดขาว และมีเกล็ดเลือดขึ้นสูง

3. มีอาการรุนแรงมาก
เด็กผู้ชายและผู้หญิงเสี่ยงมีอาการรุนแรงได้เท่า ๆ กัน โดยเฉพาะในช่วงวัย 3-6 ขวบ คือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ และอาจมีอาการม่านตาอักเสบ หรือบวมแดงรอบ ๆ ตาดำด้วย ในรายที่รุนแรงมาก ๆ อาจเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน

สังเกตก่อนอาการรุนแรง
การสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้สำคัญมากค่ะ
ลูกบ่นว่าเจ็บข้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ ตื่นมามักจะบ่นว่าเจ็บข้อ เป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าลูกอาจมีอาการในกลุ่มที่มีปัญหาข้ออักเสบแบบไม่ติดเชื้อ อาการปวดข้อจะค่อย ๆ บรรเทาลงแต่ไม่หายขาด

มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หากสังเกตจะเห็นว่าลูกมีอาการปวดข้อเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีการอักเสบของข้อหลาย  ๆ ข้อพร้อมกัน ให้รีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หากปล่อยไว้ ข้อที่อักเสบเรื้อรังจะเกิดการทำลายของผิวข้อ หรือข้อต่าง ๆ ทั้งแขน ขา มือ เข่า มีการยึดติดจนเคลื่อนไหวไม่ได้

การรักษา
1. มีอาการรุนแรงเป็นหลาย ๆ ระบบ ต้องรักษาด้วยการให้ยาเฉพาะ เช่น ยาในกลุ่มต้านการอักเสบ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการให้ยาที่เหมาะสมและติดตามอาการระยะยาว ในบางรายอาจต้องนอนโรงพยาบาลรวมทั้งพิจารณาเรื่องการทำกายภาพบำบัดในระยะต่อมา

2. กลุ่มที่มีข้ออักเสบไม่เกิน 4 ข้อ ถ้าให้ยาต้านการอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น อาจใช้วิธีฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในข้อ เพื่อให้การอักเสบหายเร็วขึ้น ช่วยให้ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์น้อยลง

3. กลุ่มที่มีอาการรุนแรง และข้ออักเสบเรื้อรังพร้อม ๆ กัน ถ้าต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ มีผื่นร่วมด้วย จะให้ยาสเตียรอยด์เบื้องต้น และพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นร่วมตามความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากข้ออักเสบพร้อมกันหลาย ๆ ข้อ เด็กจะเดินหรือทำกิจกรรมไม่ได้

ดูแลและป้องกัน
1. เข้าใจโรคและการใช้ยา คุณพ่อคุณแม่ต้องคุยกับแพทย์ให้เข้าใจถึงการรักษาว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร การใช้ยาตัวไหนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่สำคัญหากลูกมีอาการข้ออักเสบ ต้องพาไปพบแพทย์ ไม่ใช่ซื้อยากินเอง

2. เรียนรู้วิธีการให้กำลังใจ โดยเฉพาะลูกวัยอนุบาล ถ้ามีข้ออักเสบเรื้อรัง อาจทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ไม่ได้ตามปกติทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจ คุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดจึงต้องหมั่นพูดคุย และหากิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมให้ลูกทำ เพื่อสร้างความมั่นใจและกำลังใจให้ลูก

3. ทำกายภาพบำบัดหลังการรักษา จะช่วยให้ข้อต่าง ๆ กลับมาทำงานได้ตามปกติมากที่สุด

หากรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ลูกจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน-1 ปีค่ะ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : baby.kapook 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินอุดหนุนบุตรเดือนกรกฎาคม 2565 โอน 600 บาท เข้าบัญชีพ่อแม่วันนี้ เช็กเลย

    เงินอุดหนุนบุตร เดือนกรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เผย เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ออกวันศุกร์ที่ 8 กร...