วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ดูแลแม่ท้องอย่างไร ให้ห่างไกลโรคไทรอยด์



      โรคไทรอยด์ เป็นโรคที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์กังวลใจไม่น้อย วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เรื่อง โรคไทรอยด์ และการวางแผนก่อนตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่เป็นไทรอยด์ก็เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะถ้าคุณแม่ดูแลตัวเองดีและพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอก็สามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยค่ะ มาดูคำแนะนำดี ๆ กันเลยค่ะ


ผู้หญิงที่เป็นโรคไทรอยด์ หรือเคยมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อาจเกิดความกังวลว่าถ้าตั้งครรภ์แล้วจะทำให้อาการกำเริบได้ไหม หรือจะมีผลต่อลูกในท้องหรือเปล่า แต่ถ้ามีการรักษาอย่างสม่ำเสมอก็ตั้งครรภ์ได้สบายค่ะ

คุณแม่ท้อง...ต่อมไทรอยด์ทำงานเปลี่ยนไป
ช่วงท้อง ปกติต่อมไทรอยด์จะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อยอยู่แล้ว และอาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์เปลี่ยนแปลง มีการเผาผลาญในร่างกาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ดังนี้

1. ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
- พบไม่บ่อย เพราะผู้หญิงที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีปัญหามีบุตรยากอยู่แล้ว เนื่องจากไข่ไม่ตก หรือไข่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง

- ในคุณแม่ที่เคยมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มาก่อน และวางแผนจะมีลูก ไม่ต้องกังวล เพราะการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการกำเริบของโรค

อาการขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขณะท้อง อาจมีโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนด มีโอกาสแท้ง หรือทารกอาจเสียชีวิตขณะคลอดได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม

การดูแลรักษา

1. สูติแพทย์จะดูแลควบคู่ไปกับการรักษา 
ตรวจติดตามโดยอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ และกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ ที่สำคัญต้องคอยตรวจติดตามระดับฮอร์โมนเป็นระยะ

2. ควรตรวจท้องอย่างสม่ำเสมอ 
กินอาหารที่มีประโยชน์ และมีไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น กินยาบำรุงเลือดสม่ำเสมอ เพราะยาบำรุงเลือดมีธาตุไอโอดีนผสมอยู่ในระดับที่คุณแม่ท้องต้องการ

3. ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ 
เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของลูกในท้องเป็นระยะ ว่ามีการเจริญเติบโตเหมาะสมตามเกณฑ์หรือไม่ และเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ต้องตรวจการเต้นหัวใจของลูกเป็นระยะด้วย

ผู้หญิงที่เป็นโรคไทรอยด์ หากวางแผนจะมีลูก ควรกินยาสม่ำเสมอ ตรวจเลือดตามที่แพทย์นัด ที่สำคัญควรคุมกำเนิดก่อน จนกว่าอายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์

 2. ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ
ทำให้มีอาการคอพอกเป็นพิษ อาจพบร่วมกับครรภ์ไข่ปลาอุก หรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย คุณแม่จะรู้ได้จากการตรวจเลือด แล้วพบว่าร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ และสังเกตอาการได้จากน้ำหนักลดหรือไม่ขึ้นตามเกณฑ์ ขี้ร้อน ผิวอุ่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ

ในช่วงท้อง ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย ทำให้ช่วงไตรมาสแรกมีโอกาสที่โรคจะกำเริบขึ้นมาได้ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และ 3 อาการจะดีขึ้น แต่ในคุณแม่ที่ควบคุมโรคไทรอยด์ได้ไม่ดี อาจมีโอกาสที่โรคจะกำเริบอีกครั้งช่วงหลังคลอด จึงต้องระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลให้หัวใจล้มเหลวได้

หากมีอาการขณะตั้งครรภ์
และไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมหรือควบคุมโรคได้ไม่ดี อาจทำให้มีความดันโลหิตสูง ทารกเจริญเติบโตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้แท้งได้

ดูแลรักษาขณะตั้งครรภ์

1. สูติแพทย์จะดูแลควบคู่ไปกับการรักษา 
และตรวจติดตามโดยอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อสม่ำเสมอ

2. กินยาต้านไทรอยด์
โดยขนาดยาน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมโรคไทรอยด์ได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านไทรอยด์ในกลุ่ม methimazole เพราะอาจมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของริมฝีปากบนของลูกในท้องได้ ยาที่มีความปลอดภัย เช่น ยากลุ่มติดตามระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ เพื่อความปลอดภัยของลูกมากที่สุด

3. หมั่นตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ
กินอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจอัลตราซาวด์ตามที่แพทย์นัด เพื่อดูการเจริญเติบโตของลูกในท้อง ว่ามีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมตามเกณฑ์หรือไม่ ตรวจการเดินของหัวใจ หากผิดปกติแพทย์จะได้รักษาได้ทัน

4. เมื่อเข้าสู่โตรมาสที่ 3 ต้องระวังภาวะคลอดก่อนกำหนด 
โดยเฉพาะคุณแม่ที่ควบคุมโรคได้ไม่ดีต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจคลอดก่อนกำหนดได้ ที่สำคัญอย่างเดินเยอะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เวลานอนควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ดี ช่วยให้มดลูกขยายตัว ป้องกันการหดรัดตัวของมดลูกก่อนกำหนด และกินยาสม่ำเสมอ

แม้จะมีภาวะไทรอยด์ แต่ถ้าคุณแม่ท้องดูแลตัวเอง กินยาอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพท้องเป็นระยะ ก็จะช่วยควบคุมโรคได้ดี และพร้อมต้อนรับลูกน้อยได้อย่างสบายใจค่ะ

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :baby.kapook,นิตยสาร รักลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินอุดหนุนบุตรเดือนกรกฎาคม 2565 โอน 600 บาท เข้าบัญชีพ่อแม่วันนี้ เช็กเลย

    เงินอุดหนุนบุตร เดือนกรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เผย เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ออกวันศุกร์ที่ 8 กร...