วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กระเพาะของทารกแรกเกิด จุน้ำนมได้แค่ไหน ?


     เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแต่คุณแม่ต้องทำความเข้าเรื่องปริมาณน้ำนมแม่ที่ลูกน้อยแรกเกิดควรได้รับก่อนค่ะ วันนี้ ก็มีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะมาช่วยเป็นแรงผลักดันให้คุณแม่มือใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบสบาย ๆ คลายความกังวลมาแนะนำกันค่ะ


น้ำนมไม่พอ...อุปสรรคสำคัญที่จะคอยบั่นทอนจิตใจ ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่จะว่าไปแล้วคำว่า น้ำนมไม่พอ คืออะไรกันแน่ และคุณแม่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าน้ำนมไม่พอจริง ๆ หรือว่ากังวลไปเอง เอาอย่างนี้ค่ะ ลองมาเปรียบเทียบขนาดกระเพาะของเบบี้แต่ละวัยดูดีกว่า แล้วคุณจะรู้ว่าน้ำนมแม่ โดยเฉพาะในวันแรก ๆ หลังคลอดนั้น ยังไงก็พอ

หลังคลอด... นมไม่มา ?
คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่มักเคยชินกับปริมาณนมที่ลูกต้องการในแต่ละวัน โดยอิงจากปริมาณที่ระบุอยู่ข้างกล่องนมผสม เช่น นมผสมสำหรับทารกแรกเกิด ครั้งละประมาณ 2 ออนซ์ วันละ 7-8 ครั้ง เมื่อถึงเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เข้าใจว่าน้ำนมแม่ต้องมีปริมาณพอ ๆ กับนมผสมที่ระบุอยู่บนฉลากด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอด ทารกไม่ได้ต้องการปริมาณน้ำนมมากขนาดนั้นค่ะ เพราะกระเพาะของหนูน้อยแรกเกิดมีความจุเพียงเพียง 5-7 ซีซี หรือ 1-1.5 ช้อนชาเท่านั้น หากน้ำนมแม่ในวันแรกหลังคลอดมีไม่ถึงออนซ์ จึงเพียงพอกับเจ้าตัวน้อยอย่างไม่ต้องกังวล หนำซ้ำน้ำนมปริมาณน้อยนิดในวันแรกนี้ กลับมีประโยชน์มหาศาลเพราะเป็นหัวน้ำนมสีเหลือง ที่เรียกว่า "คอลอสตรัม" ประกอบไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่มีอาหารใดจะเทียบแทนได้ หลังจากวันแรกไปแล้ว หากคุณแม่ให้ลูกดูดนมบ่อย และดูดถูกวิธี ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น แต่หากกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอให้ลูก แล้วไปเสริมนมผงเสียก่อน โอกาสที่ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมก็จะหายไปอย่างน่าเสียดายค่ะ

หนูน้อยแรกคลอดจะอิ่มหรือเปล่า ?
หากคุณแม่ยังกังวลอยู่ว่า ปริมาณนมเพียงน้อยนิดของคุณจะทำให้ลูกน้อยอิ่มท้องหรือเปล่า ขอให้วางใจได้เลยค่ะ เพราะในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอด ร่างกายของทารกยังคงมีอาหารที่สะสมมาตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ ทำให้ลูกไม่ต้องการน้ำนมมากนัก ปริมาณน้ำนมแม่ที่ผลิตได้ มักจะสอดคล้องกับความต้องการของลูกเสมอ โดยเฉพาะ 2-3 วันแรกหลังคลอด กระเพาะของลูกที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ยังอยู่ในช่วงปรับตัว การได้รับน้ำนมครั้งละน้อย ๆ ถือเป็นการฝึกให้ระบบการย่อยอาหาร และระบบการขับถ่ายได้ทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไม่อิ่มแต่อย่างใดนะคะ

ความจุ ของกระเพาะลูกน้อย

- อายุ 1 วัน ความจุ 5-7 มล. (1 ช้อนชา)
- อายุ 3 วัน 0.75-1 ออนซ์
- อายุ 7 วัน 1.5-2 ออนซ์
- อายุ 30 วัน 2.5-5 ออนซ์

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : baby.kapook,นิตยสาร บันทึกคุณแม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินอุดหนุนบุตรเดือนกรกฎาคม 2565 โอน 600 บาท เข้าบัญชีพ่อแม่วันนี้ เช็กเลย

    เงินอุดหนุนบุตร เดือนกรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เผย เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ออกวันศุกร์ที่ 8 กร...