วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

โค้งสุดท้ายของแม่ตั้งครรภ์ ต้องระวังอะไรบ้าง


      ช่วงใกล้คลอดคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังอะไรบ้างนะ...วันนี้มีเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาแนะนำในการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังอาการก่อนคลอดในช่วงไตรมาสสุดท้ายมาฝากคุณแม่กันค่ะ 


ยินดีด้วยค่ะในที่สุด...คุณแม่ก็มาถึง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องที่ต้องเผชิญในไตรมาสแรกก็ผ่านพ้นมาได้ ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเพราะฮอร์โมนในช่วงไตรมาสที่ 2 ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด และแน่นอนว่าในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ก่อนจะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยให้ชื่นใจนั้น ก็ยังมีอีกหลายสิ่งให้ว่าที่คุณแม่ต้องเผชิญ และเฝ้าระวัง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่น่ากังวลเลยสักนิด หากคุณแม่รู้ว่าต้องรับมืออย่างไร

อาการปวดหลัง มาแน่ ๆ !!!
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวน้อยในครรภ์จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และนั่นหมายความว่า น้ำหนักของคุณแม่ก็จะพุ่งพรวดขึ้นอย่างน่าตกใจด้วย ซึ่งน้ำหนักตัวและขนาดท้องที่เพิ่มขึ้นนี่เอง จึงเป็นสาเหตุให้ว่าที่คุณแม่อาจมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นได้ วิธีการป้องกันระดับหนึ่งก็คือ การระมัดระวังท่าทางการนั่งและนอน โดยว่าที่คุณแม่ควรนั่งหลังตรงบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง สำหรับการนอนควรนอนตะแคงข้าง โดยมีหมอนวางคั่นระหว่างขาของคุณแม่ หากมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นแล้ว อาจใช้การประคบร้อน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาแก้ปวดใด ๆ ก็ตาม

ตกขาวหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด
เมื่อใกล้ถึงกำหนคลอดคุณแม่อาจพบว่ามีเมือกสีขาว ที่เรียกว่า Mucus Plug ออกมาจากช่องคลอดนี่เป็นสัญญาณเตือนว่าปากมดลูกเริ่มเปิด และบางลงในบางครั้ง เมือกนี้อาจเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ก็ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนคลอดเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ แต่หากคุณแม่มีของเหลวไหลออกมาเหมือนปัสสาวะ แต่ไม่สามารถกลั้นได้ นั่นอาจแปลว่าถุงน้ำคร่ำอาจแตก หรือที่ภาษาทั่วไปเรียกว่าน้ำเดิน ซึ่งคุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที กรณีที่มีเลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น รกเกาะต่ำ หรือคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเช่นกัน

กรดไหลย้อน
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงใกล้คลอด จะทำหน้าที่ให้กล้ามเนื้อในร่างกายผ่อนคลาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหลอดอาหาร ซึ่งมีหูรูดในการปิดกั้นไม่ให้อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว ว่าที่คุณแม่ควรกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณไม่มากนัก แต่กินให้บ่อยขึ้น โดยอาจแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 6 มื้อ แทนการกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน และผลไม้ที่เป็นกรด สำหรับอาการท้องผูก

ท้องผูกและริดสีดวง
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ความเสี่ยงของว่าที่คุณแม่ในการเผชิญอาการท้องผูกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ ทั้งนี้เป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำในปริมาณมากเกินไป รวมถึงมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นไปกดทับลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระจับตัวเป็นก้อนแข็งจนเกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งเมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าที่คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยการเลือกอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย รวมทั้งดื่มน้ำให้มาก ๆ พยายามอย่าแบ่งถ่าย เพราะอาจนำไปสู่อาการริดสีดวงทวารหนักที่มักเกิดได้ง่ายในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากปริมาณเลือดที่ไหลเวียนมากขึ้น ผนวกกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีแรงกดทับมากขึ้น ถึงแม้อาการริดสีดวงทวารหนักจะไม่มีอันตราย แต่หากเป็นแล้วก็เจ็บปวดทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังคลอด ดังนั้น พยายามป้องกันด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำมาก ๆ จะดีที่สุดค่ะ

เฝ้าระวังอาการต่อไปนี้
- รู้สึก เวียนศีรษะอย่างมากผิดปกติ
- ปวดท้อง อย่างหนัก หรือปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน
- มีน้ำใส ๆ ออกจากช่องคลอดเหมือนปัสสาวะ

ระวัง...สัญญาณอันตราย !!!
หากมีสัญญาณต่อไปนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที อาการเหล่านี้ ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง
- น้ำหนักเพิ่ม อย่างรวดเร็ว (ประมาณเดือนละ 2.9 กก.)
- มีอาการ ปวดแสบขณะปัสสาวะ
- มีเลือด ออกจากช่องคลอด

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :  baby.kapook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เงินอุดหนุนบุตรเดือนกรกฎาคม 2565 โอน 600 บาท เข้าบัญชีพ่อแม่วันนี้ เช็กเลย

    เงินอุดหนุนบุตร เดือนกรกฎาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เผย เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ออกวันศุกร์ที่ 8 กร...